เคยเป็นกันบ้างมั้ย เวลาหางานที งานนี้ก็น่าสน บริษัทนั้นก็น่าไปทำงานด้วย ทำให้เปิดแท็บหน้าต่างตำแหน่งงานจนแทบไม่มีไม่มีที่ว่าง หรือบางคนเซฟงานไว้ในแอคเคาท์ของเว็บหางาน แต่ก็ไม่มีเวลาได้กลับไปสมัครจริงจัง รู้ตัวอีกที งานที่อยากทำก็ปิดรับสมัครไปแล้ว หรือบางคนส่งใบสมัครเยอะจนงง ไม่รู้ว่า HR ของที่ไหนโทรมาเรียกไปสัมภาษณ์ก็มี เลยจะมาชวนคุณจัดระเบียบการหางาน ให้คุณได้เจอตำแหน่งงานที่ใช่ และไม่พลาดทุกงานที่คุณอยากทำ
ตั้งเป้าหมายในอาชีพ
ก่อนอื่นเลย คุณต้องเริ่มที่การตั้งเป้าหมายในอาชีพของคุณ เป้าหมายสูงสุดในอาชีพคุณคืออะไร คุณอยากเป็นอะไร และเริ่มวางแผนให้ไปสู่จุดนั้น กำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวในอาชีพของคุณ เช่น อยากเป็นผู้บริหารสายการเงิน ต้องเริ่มทำงานตำแหน่งนี้ ในบริษัทนี้ เพื่อจะได้เก็บเป็นพอร์ตในเรซูเม่ต่อไป เป็นต้น
กำหนดช่วงเวลาหางาน
พอได้เป้าหมายแล้ว ลองกำหนดช่วงเวลาหางานในแต่ละวันดู เช่น คุณจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อวันในการหางาน ซึ่ง 2 ชั่วโมงนี้จะเป็นเวลาที่คุณใช้เขียนเรซูเม่ ค้นหาตำแหน่งที่คุณสนใจ เรียนรู้สกิลเพิ่มเติมที่จะไปใช้ในการสมัครตำแหน่งที่คุณต้องการ
คัดเฉพาะงานที่ใช่
การส่งใบสมัครเยอะ ไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้งานเสมอไป เผลอ ๆ อาจจะได้งานที่ไม่ใช่แล้วคุณก็ต้องกลับมานั่งหางานใหม่ก็ได้ ดังนั้นเลือกตำแหน่งงานที่คุณสนใจจริง ๆ ศึกษาความต้องการของงานและบริษัทนั้นให้ดี แล้วเขียนเรซูเม่ให้น่าสนใจ เหมาะกับตำแหน่งงานที่คุณสมัครไปเลย แบบนี้จะเพิ่มโอกาสให้คุณถูกเรียกสัมภาษณ์มากกว่าเดิม
สร้างระบบการหางานจริงจัง
คุณสามารถสร้างระบบการหางานของคุณได้ง่าย ๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ของคุณเอง เริ่มจากการเซฟตำแหน่งงานและรายละเอียดลงคอมพิวเตอร์ และสร้างโฟลเดอร์ของงานนั้น ๆ เพื่อความเป็นระเบียบ ง่ายต่อการค้นหา และกันลืม และพอเขียนเรซูเม่สำหรับตำแหน่งงานนั้นเสร็จ ก็เซฟลงโฟลเดอร์นั้นได้เลย
ทำ Spreadsheet สร้างตารางหางาน
ทำตารางรวมข้อมูลการสมัครงานของคุณ โดยกำหนดช่องเป็น ตำแหน่งงาน บริษัท วันที่สมัคร เดดไลน์วันปิดรับสมัคร สถานะตอนนี้ เรียกสัมภาษณ์ วันสัมภาษณ์ เป็นต้น คุณอาจจะใช้ Excel หรือ Google sheets ก็ได้ ถ้าคุณอยากที่จะเห็นตารางรวมข้อมูลการสมัครของคุณแบบออนไลน์ ดูได้ทุกที่ทุกเวลา วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถติดตามการสมัครงานของคุณได้แบบไม่พลาดเลย
ตั้งเตือนไว้ในปฏิทิน
นอกจาก spreadsheet แล้ว การตั้งเตือนเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในการสมัครงานไว้ในปฏิทินก็จะทำให้คุณไม่พลาด เช่น ตั้งเตือนวันที่จะต้องส่งใบสมัคร วันที่ เวลาและสถานที่ ที่ต้องไปสัมภาษณ์วันที่ควรติดต่อไปสอบถามความคืบหน้า
ใช้บริการเตือนจากเว็บหางาน
เดี๋ยวนี้คุณสามารถเลือกรับข่าวสาร และการแจ้งเตือนจากเว็บหางานได้แล้ว เพื่อที่คุณจะไม่พลาดทุกตำแหน่งงานที่คุณสนใจ ถ้ามีตำแหน่งใหม่ที่ตรงกับความต้องการของคุณ หรือมีการเปิดดูเรซูเม่จากบริษัทที่คุณไปสมัครงานไว้ เว็บสมัครงานก็จะส่งอีเมลไปแจ้งเตือนคุณในทันที
เก็บ Resume ไว้ใน Cloud
ลองเก็บเรซูเม่ หรือข้อมูลตำแหน่งงานที่คุณสนใจไว้ใน Cloud อย่าง Dropbox หรือ Google Driveก็ได้ เพื่อที่คุณจะได้เปิดดูและส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ได้ทุกที่ทุกเวลา และอย่าลืมสร้างโฟลเดอร์ของแต่ละงานให้เป็นระเบียบด้วยล่ะ
กำหนดวันที่จะต้องติดตามงานให้ชัดเจน
เมื่อส่งไปสมัครไปแล้ว อย่าลืมที่จะตามใบสมัครของคุณด้วย คุณอาจจะใช้วิธีส่งอีเมล หรือโทรไปติดต่อ HR ว่าได้รับใบสมัครของคุณรึยัง มีความคืบหน้าอะไรมั้ย หรือถ้าคุณสมัครงานผ่านคนรู้จัก ก็อาจจะติดตามด้วยการส่งอีเมลไปขอบคุณที่ช่วยส่งใบสมัครให้ เป็นการถามความคืบหน้าแบบเนียน ๆ อีกหนึ่งวิธีที่เอาไปใช้ได้ และเพื่อไม่ให้ลืม คุณควรกำหนดไว้ให้ชัดเจนไปเลย เช่น หลังจากส่งใบสมัครไปแล้ว 1-2 อาทิตย์ต้องถามความคืบหน้า อาจจะลงปฏิทินไว้เลยก็ได้
ลองจัดระเบียบวิธีการหางานของคุณดู แล้วคุณจะพบว่าคุณจะใช้แรงในการหางานน้อยลง พลาดน้อยลง แต่จะทำให้คุณมีโอกาสได้ตำแหน่งงานในฝันมากขึ้นกว่าเดิม